top of page
กำเนิดพระพิฆเนศวรในคติฮินดู-ไทย

 1. กำเนิดพระพิฆเนศวรในคติฮิินดู        

                พระพิฆเนศวรเป็นเทพเจ้าที่ปรากฏพระนามมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเวท คือ ก่อนพุทธกาล ในมนตราบทหนึ่งของคัมภีร์พระเวท มีบทสวดลึกลับที่กล่าวถึงเทพที่มีเศียรเป็นช้าง
                พระพิฆเนศวรทรงเป็นเทพเจ้าชั้นผู้ใหญ่ของเทวโลกตามคติฮินดูและทรงรวมอยู่ในคณะเทพในฐานะที่ทรงเป็นคณปติ ผู้ทรงควบคุมคณะบริวารแห่งองค์พระศิวะ

 

 

 

 

 

 

 

 


             ในทางเทวปกรณ์ พระพิฆเนศวรทรงเป็นพระโอรสของพระศิวะหรือพระอิศวรและพระอุมาปวารตี ลักษณะของพระองค์ คือ ทรงมีร่างกายอย่างมนุษย์ที่อ้วนสมบูรณ์ แต่มีเศียรเป็นช้าง งาหักไปข้างหนึ่ง มี 4 กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) 

-อ้างอิง
        รชา สถิรชาติ. 2556.[ออนไลน์].ประวัติพระพิฆเนศในประเทศไทย. พระพิฆเนศวร
เข้าถึงได้จาก; http://balganeshsiam.blogspot.com/2009/08/blog-post_3752.html. (วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559).

        รชา สถิรชาติ. 2556.[ออนไลน์].ประวัติพระพิฆเนศตามคติพราหมณ์ ฮินดู. พระพิฆเนศวร
เข้าถึงได้จาก; http://balganeshsiam.blogspot.com/2009/08/blog-post_25.html?utm_source=BP_recent.(วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559).

             เรื่องราวของพระพิฆเนศวรถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์ปุราณะและอุปปุราณะซึ่งมีอย่างละ 18 เล่ม คัมภีร์ปุราณะนั้น ก็คือคู่มือของพราหมณ์สำหรับใช้อธิบายความเป็นมาของเทพเจ้า ในกรณีศึกษาจึงยกตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้
1.ปัทมปุราณะ
             ยุคหนึ่ง ขณะที่พระอุมาเทวีสรงน้ำอยู่ เมื่อขัดสีพระวรกายแล้วเกิดไคลออกมาจำนวนหนึ่งก็ทรงนำมาปั้นเป็นรูปเด็กที่เศียรเป็นช้างทำเล่นๆ แล้วปล่อยลอยไปตามแม่น้ำคงคา พระคงคาพบเข้า เห็นว่าเป็นของที่พระแม่เจ้าผู้ทรงมเหสักข์สร้างขึ้น ไม่ควรปล่อยให้แตกสลายไป จึงชุบรูปปั้นนั้นให้มีชีวิตแล้วถือเป็นบุตรของตนเอง เมื่อนำไปถวายพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีก็รับเป็นลูก
2.พรหมไววรรตปุราณะ
             เมื่อครั้งที่พระอุมายังไม่มีพระโอรส พระศิวะทรงแนะนำให้พระนางทรงทำพิธีบูชาพระวิษณุ
หรือพิธีปันยากพรตเรื่อยๆไปทุกวันจนครบหนึ่งปี ระหว่างพิธีพระอุมาต้องถือตบะสำรวมกายและใจให้บริสุทธิ์ ระลึกถึงแต่องค์พระวิษณุมหาเทพ แต่แม้กระทำพิธีอย่างถูกต้องเป็นเวลานานก็ยังไม่ได้พระโอรส จนพระนางเกิดท้อพระทัยจะล้มเลิกพิธี จึงมีเสียงร้องบอกว่า “กลับเข้าไปในห้องเถิดจะพบพระกุมาร ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระกฤษณะ” เมื่อพระนางเสด็จเข้าไปในห้องก็พบพระกุมารบรรทมอยู่จริงๆ พอบรรดาเทพทั้งหลายทราบเรื่องก็แห่กันมาถวายพระพรและชื่นชมพระกุมาร หากแต่ว่าในเวลานั้นมีพระเสาร์มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย แต่ผิดกับเทพอื่น คือ ทรงเอาแต่ก้มพระพักตร์ ไม่มองดูพระกุมาร เป็นที่น่าข้องใจแก้พระแม่และบรรดาเทพทั้งหลาย
             เหตุที่พระเสาร์ต้องทำเช่นนั้น เพราะถูกชายาสาปว่า ถ้าหากพระองค์มองดูใครก็ให้คนนั้นถึงแก่กาลพินาศ พระเสาร์จึงไม่อาจมองดูใครได้ทั้งสิ้น พระอุมาตรัสถามด้วยความสงสัยว่า ทำไมมาถึงแล้วจึงไม่มองลูกของนาง พระเสาร์จำใจต้องเล่าเรื่องที่ถูกสาปให้ฟัง พระแม่ไม่ค่อยจะทรงเชื่อนัก เห็นว่าพระเสาร์จะกลัวชายามากเกินไป จึงมีรับสั่ง“ไม่เป็นหรอก ดูเถอะ” พระเสาร์ยังไม่แน่ใจจึงขอให้เทพที่ซื่อตรงที่สุด คือ พระธรรมราชหรือพระยมเป็นพยาน แล้วจึงมองดูพระกุมาร ฉับพลันเศียรพระกุมารก็ขาดกระเด็นหายไป
             เคราะห์กรรมของพระเสาร์ยิ่งหนักขึ้น แต่ด้วยความพิโรธของพระแม่เจ้า พระเสาร์จึงถูกสาปให้เดินขาเขยก ส่วนพระวิษณุนั้นรีบทรงครุฑไปยังแม่น้ำบุษปภัทร ไปพบช้างนอนหลับหันหัวไปทางทิศเหนือก็ทรงตัดเศียรช้างนั้นมาต่อกับองค์พระกุมาร พระกุมารจึงฟื้นคืนชีพ

3.ลิงคปุราณะ
             อธิบายการกำเนิดพระพิฆเนศวรว่า เมื่อบรรดาอสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะ พระเป็นเจ้าก็ทรงประทานพรให้มีฤทธิ์อำนาจมากขึ้น อสูรเหล่านั้นจึงมีความลำพองใจ เที่ยวรุกรานสร้างความเดือดร้อนแก่เทวดาและมนุษย์ พระอินทร์จึงพาเทพทั้งหลายไปเฝ้าพระศิวะ และถวายคำแนะนำให้ทรงสร้างเทพแห่งอุปสรรคขึ้นมาองค์หนึ่ง เพื่อขัดขวางความพยายามของอสูรแระรากษสที่ก่อความเดือดร้อนผู้อื่น
             พระศิวะจึงทรงแบ่งภาคเป็นเทวบุตรรูปงามมาจากพระครรภ์ของพระอุมา มีเศียรเป็นช้างแต่กายเป็นมนุษย์ตั้งแต่เกิด มือหนึ่งถือปาศะ อีกมือหนึ่งถือตรีศูล และประทานพระนามว่า “วิฆเนศวร” พร้ออมทั้งมอมหน้าที่ให้เป็นผู้ทำให้อุปสรรคและความขัดข้องเกิดแก่บรรดาอสูร รากษส ตลอดจนคนชั่วช้า มิให้กระทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้
             ฉะนั้นแล้วการเกิดมาเป็นเทพเจ้าผู้บันดาลอุปสรรคต่างๆ แก่เหล่าคนชั่วนี้ก็ได้รับพรจากพระศิวะด้วยว่า ไม่ว่างานประเภทใดก็ตาม ถ้าคนไม่ทำการบูชาพระพิฆเนศวร งานนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

-อ้างอิง
เรื่องเดียวกัน, หน้า 68-69.​        

4.มัตสยปุราณะ
             กล่าวถึงพระพิฆเนศวรเป็น 2 นัย คือ นัยแรกรูปคณปติที่กำเนิดขึ้นมีเศียรเป็นช้างมาแต่เดิม อีกนัยหนึ่งกล่าวว่า วันหนึ่งขณะพระอุมาทรงสรงสนานอยู่ และทรงสร้างพระพิฆเนศวรขึ้นจากน้ำมันในสระสรงผสมกับเหลื่อไคลของพระองค์เอง ปั้นให้เป็นรูปคนแต่มีเศียรเป็นช้าง และประพรมด้วยน้ำในแม่น้ำคงคาจนมีชีวิตขึ้นมา เมื่อเทพทั้งหลายทูลถามว่า เหตุใดจึงสร้างบุรุษมีหัวเป็นช้างนี้ ทรงมีรับสั่งตอบว่า "ก็เพื่อทำการขัดขวางผู้ที่ประสงค์จะบูชาศิวลึงค์ที่jเทวาลัยโสมนาถ เพื่อทำให้เหล่านั้นตกนรกทั้งเจ็ดขุม" 

5.ไวยวนะสาคม
             กล่าวว่า พระพิฆเนศวรทรงเกิดจากอากาศ และถือว่าทรงเป็นปรพรหมหรือปรมาตมัน
ยังมีปุราณะบางเล่มเขียนว่า ครั้งหนึ่ง พระศิวะและพระอุมาประทับอยู่เขาไกรลาส เขียนตัวอักษร “โอม” แล้วเพ่งสมาธิกับตัวอักษรนั้น จึงทำให้ตัวอักษรกลายเป็นพระพิฆเนศวร มีเศียรเป็นช้าง
             อีกเรื่องหนึ่ง คือ พระเป็นเจ้านั่งบำเพ็ญตบะทรงเห็นพระพิฆเนศวรในขณะทรงคิดถึงปรมาตมัน จึงทรงอธิษฐานกับพระปรมาตมันนั้นว่า ท่านมาเป็นบุตรของเราในลักษณะร่างกายนี้ แล้ววันหนึ่งพระพิฆเนศวรจึงได้มาเป็นพระโอรสของพระศิวะและพระอุมาจริง

-อ้างอิง
       เรื่องเดียวกัน, หน้า13. (วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559).

พระพิฆเนศวร

http://kingofwallpapers.com/ganesha.html

 2.กำเนิดพระพิฆเนศวรในคติไทย

- ตามคติไทยกำเนิดพระพิฆเนศวรมีรายละเอียดต่างจากคำอธิบายในปุราณะของทางฮินดู ดังนี้
             กำเนิดพระพิฆเนศวรสำนวนได้กล่าวว่า พระศิวบุตรพิฆเนศวรและพระโกญจนาเนศวรทรงบังเกิดขึ้นจากกองเพลิง พร้อมกับเศียรช้างคล้ายกับกำเนิดพระสกันท์ในเทวปกรณ์ฮินดู โดยเล่าว่า เมื่อยุคหนึ่ง พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหมได้มาประชุมกัน พระศิวะทรงมีเทวโองการให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดพระโอรสสองพระองค์ ยกตัวอย่างความตอนหนึ่ง ดังนี้

             “พระเพลิงรับเทวโองการแล้วกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง มีรัศมีสว่างรุ่งเรือง แลกลางเปลวเพลิงนั้นเบื้องขวาเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นหน้าช้าง มีพระกรสองกร กรขวาทรงตรีศูล กรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์เป็นสังวาล นั่งชาณุมณฑลลองอยู่ข้างเบื้องขวาของ
พระเป็นเจ้าทั้งสอง จึงให้ปรากฏนามว่า ศิวบุตรพิฆเนศวร

             เบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพักตร์เป็นช้างสามพักตร์ มีพระกรหกพระกร กรหนึ่ง เกิดเป็นช้างเผือกผู้มีเศียร 33 เศียร 4 บาท ชื่อเอราวัณ กรหนึ่งเกิดเป็นช้างเผือกมี 3 เศียร 4 บาท ชื่อครีเมฆะไตรดายุค ช้างทั้งสองนี้คือเทพยดานฤมิตด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ พระเป็นเจ้าทั้งสามประสาทพรไว้ให้สำหรับเป็นพาหนะของสมเด็จอมรินทรธิราช แลกรอีกสองกรเกิดเป็นช้างเผือก ซึ่งจะอุบัติในโลกสำหรับเป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์อันมีอภินิหารอีกข้างละสามเชือก … อีกสองกรนั้นเกิดเป็นสังข์ทักษิณาวรรตเบื้องขวา สังข์อุตราวัฏเบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศีรษะทั้ง 7 เศียร พระเป็นเจ้าทั้งสามจึงให้นามว่า โกญจนาเนศวรศิวบุตร … หมอช้างทั้งหลายจึงได้ไหว้บูชา พระศิวบุตรพิฆเนศวร และพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร ด้วยเหตุดังนี้พระศิวบุตรทั้งสองก็ประจำอยู่นโลกจนสิ้นภัทรกัลปหนึ่ง ช้างเผือกสามตระกูลและสังข์สองตระกูลจึงเป็นของสวัสดิมงคล เพราะเดิมเกิดแต่ในกลงาฝ่ามือพระโกญจนาเนศวรศิวบุตร ในขณะเมื่อพระเป็นเจ้าทั้งสามประชุมพร้อมกัน เป็นพืชพันธุ์สืบกันมาด้วยเหตุนี้”

 

 

 

 

 

 

 


             จากตัวอย่างความตอนหนึ่งที่ยกมานี้ จะเห็นว่ากำเนิดเทพเจ้าที่มีเศียรเป็นช้างทั้งสอง สำนวนของไทยนั้น แท้ที่จริงน่าจะเป็นเรื่องของพระพิฆเนศวรองค์เดียวที่ถูกแต่งใหม่เป็นเทพสามพระองค์ ด้วยผู้แต่งอาจได้เค้ามูลเรื่องการกำเนิดเทพที่มีเศียรเป็นช้าง 2 ทาง กล่าวคือ บังเกิดจากกองเพลิงสององค์ และ บังเกิดเป็นพระขันธกุมารขึ้นก่อน แล้วเศียรขาดเพราะวาจาสิทธิ์ของพระวิษณุกรรม
             แล้วจึงนำทั้งสองเรื่องนี้มาเขียนรวมกันโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกัน และที่เห็นได้ชัด
คือ การกำเนิดพระพิฆเนศวรนี้ยังเกี่ยวเนื่องด้วยกับตำราคชลักษณ์ อันแสดงถึงการนับถือพระพิฆเนศวรในฐานะพระบรมครูทางคชกรรมของไทย

 

 


             ในตำราคชลักษณ์ของไทย เมื่อระบุถึงลักษณะช้างตระกูลต่างๆก็แจ้งชัดเลยว่า ในบรรดาช้างเผือกตระกูลอัคนิพงศ์ทั้งหมด 42 ตระกูล มี 2 ตระกูลที่น่าสนใจ คือ หมู่ที่ 12 มีแต่งาซ้ายข้างเดียว เบื้องขวาบอด ตาขาว เล็บขาว ชื่อ “พิคเนศวรมหาพินาย” มีอานุภาพมาก และหมู่ที่ 13 มีงาข้างขวา เบื้องซ้ายบอด ตาขาว
เล็บขาว ลักษณะและคุณวิเศษเหมือนอย่างมหาพินาย ชื่อ “เทพาพิคเนศ”

             มีผู้ได้กล่าวไว้ว่า ข้อแตกต่างทั้งหลายระหว่างพระพิฆเนศวรของไทยกับของฮินดู คงเป็นสิ่งที่คนไทยดัดแปลงขึ้นมาเองมากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในหมู่พวกพราหมณ์ และการดัดแปลงนี้คงเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

-อ้างอิง
        ประจักษ์ ประภาพิทยากร, นารายณ์สิปปางสี่สำนวน, อ้างแล้ว, หน้า 73-74. (วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559.)
        จิรัสสา คชาชีวะ, เรื่องเดิม, หน้า 79. (วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559.)
        คลื่นความคิด. 2556.[ออนไลน์].ตำราคชลักษณ์. เข้าถึงได้จาก;http://mcotweb.mcot.net/fm965/site/contentid=517e3361150ba061
46000050#.WDB1f9KLSM8. (วันที่ค้นข้อมูล:16พฤศจิกายน 2559.)

พระศิวะ พระอุมา พระพิฆเนศวรศิวบุตร พระโกญจนาเนศวรศิวบุตร

ที่มา : http://www.easydiy4u.com/product/342/รูปภาพครอบครัวพระศิวะ

ตำราคชลักษณ์

ที่มา : http://mcot-web.mcot.net/fm965/site/content?d=517e3361150ba06146000050#.WCWDxdKLTcc

bottom of page