top of page

พระพิฆเนศวรกับการสร้างวัตถุมงคลและเทวรูปบูชา

             ในปีพ.ศ.2537 พราหมณ์ขจร นาคเวทิน ได้ก่อตั้งมูลนิธิพระพิฆเนศวร เพื่อจัดหาทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนที่ยากจน การจัดหาทุนอาศัยการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศวร และวัตถุมงคลชนิดต่างๆ แสดง
ให้เห็นว่าได้มีการถวายความสำคัญแด่พระพิฆเนศวร ในฐานะบรมครูด้านการศึกษาและศิลปวิทยาการเป็นพิเศษ
ต่อมาในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นที่มีการแพร่สะพัดของกระแสนิยมบูชาพระพิฆเนศวร จากการสร้างพระพิฆเนศวรของพระราชญาณวิทยาคมเถระ วัดบ้านไร่ จ.นครปฐม ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตัวให้กับวงการพระเครื่องภาคอีสาน แต่ยังรวมไปถึงภาคกลาง และในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังถูกตอกย้ำด้วยปรากฏการณ์ เทวรูปดื่มน้ำนม ในช่วงปลายเดือนกันยายน เป็นผลให้เกิดความตื่นตระหนกและมีผู้ศรัทธาเป็นจำนวนมาก โดยนำนมสดไปถวายกันเต็มเทวสถานโดยเฉพาะที่เทวสถานวัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ
             หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว การบูชาเทพเจ้าฮินดูจึงเกิดกระแสอย่างชัดเจน และแพร่ขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว วัดในภาคกลางที่สร้างวัตถุมงคลและเทวรูปพระพิฆเนศวรได้รับความนิยมหลายแห่ง อาทิเช่น วัดบางพระ จ.นครปฐม วัดคันลัด จ.สมุทรปราการ วัดบางพึ่ง จ.สมุทรปราการ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี วัดโพธิ์กบเจาและวัดมารวิชัย จ.พนครศรีอยุธยา วัดโคกทอง จ.ราชบุรี วัดโคกสำโรง วัดบ้านไร่ และวัดธรรมิการาม จ.ลพบุรี 
             วัดที่สร้างพระพิฆเนศวรอย่างต่อเนื่องที่สุด ที่พอยกตัวอย่างได้ก็คือ วัดแก้วแจ่มฟ้า โดยมีรุ่นที่สร้างชื่อเสียงมากได้แก่ รุ่นมหาเทพสองแผ่นดิน พ.ศ.2541 ซึ่งเทวรูปและวัตถุมงคลทั้งหมดได้กระทำพิธีเทวภิเษกทั้งในประเทศอินเดียและเมืองไทย เทวรูปพระพิฆเนศวรชุดนี้ เฉพาะขนาดบูชา มีรูปแบบทางศิลปกรรมที่น่าสนใจมาก มีทั้งแบบประทับนั่งบนแท่นและประทับยืน ความสำเร็จนี้ทำให้ในปีต่อๆมา ทางวัดได้จัดสร้างพระพิฆเนศวรขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

             แต่การสร้างพระพิฆเนศวรที่มีชื่อเสียงที่โด่งดังที่สุด เป็นที่กล่าวขวัญที่สุดได้แก่ พระพิฆเนศวรของหลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข แห่งวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ที่สร้างพระพิฆเนศวรแบบเขมรบรรจุกริ่งอย่างปราณีตและสวยงามขึ้นเป็นครั้งแรก และออกให้บูชาในพิธีไหว้ครูวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2544 วัตถุมงคลชุดนี้ได้รับการสั่งจองจนหลายรายการหมดไปก่อนที่จะออกให้บูชาได้จริง
 
 
 
 
 
 

             ในภาคส่วนของราชการ หน่วยงานที่มีการจัดสร้างพระพิฆเนศวรบ่อยครั้งที่สุด ได้แก่ กรมศิลปากร และครั้งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือในช่วงปลายปีพ.ศ.2540 ซึ่งมีการสร้างเทวรูปพระพิฆเนศวรขนาดบูชา ขนาดเล็ก รวมทั้งวัตถุมงคลแบบต่างๆ รวมกันถึง 10 รูปแบบ โดยการออกแบบของโสพิศ พุทธรักษ์ ประติมากรระดับ 6 สถาบันศิลปกรรม พระพิฆเนศวรของกรมศิลปากรชุดนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก เพราะค่าบูชาไม่แพงและเข้าพิธีใหญ่ คือพิธีเทวาภิเษกทั้งแบบฮินดูและพุทธ ณ อุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540
 
 
 
 
 
 
 
 
 

             จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าพระพิฆเนศวรได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีองค์พระพิฆเนศวรที่เปิดให้เช่าบูชา และสักการะอย่างแพร่หลาย วงการพระเครื่องได้ให้ความสำคัญกับองค์พระพิฆเนศวรค่อนข้างมากจากกระแสนิยมของสังคมไทย

เหรียญพระพิฆเนศ รุ่นมหาเทพสองแผ่นดิน วัดแก้วแจ่มฟ้า
ที่มา: http://www.zalefree.com/goods-26822-เหรียญพระพิฆเนศ-รุ่นมหาเทพ2

พระพิฆเนศวรของหลวงพ่อพูล อตฺตรกฺโข
ที่มา: http://uauction3.uamulet.com/AuctionDetail.aspx?bid=388&qid=88682

เทวรูปพระพิฆเนศวรขนาดบูชา จัดสร้างโดยกรมศิลปากร
ที่มา: http://uauction2.uamulet.com/ AuctioDetail.aspx?bid=43&qid=151807&sortby=DES

ตลาดนัดพระเครื่องท่าพระจันทร์

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=pKGpkpIjPuk

-อ้างอิง

           กิตติ  วัฒนะมหาตม์. คเณศปกรณ์ : การนับถือพระพิฆเนศวรในเมืองไทยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2546.

           พิทักษ์ โคววันชัย.  2554. [ออนไลน์]. 100 ปี กรมศิลปากร ขอพรพระคเณศ.  พระพิฆเนศวร  เข้าถึงได้จาก; http://oknation.nationtv.tv/blog/sunnyman/2011/04/18/entry-1.  (วันที่ค้นข้อมูล:1 พฤศจิกายน 2559.)

           ชลาดา คณปติ.  2554. [ออนไลน์]. พระพิฆเนศกับความเชื่อในไทย.  พระพิฆเนศวร  เข้าถึงได้จาก; http://ganeshmuseum.
blogspot.com.  (วันที่ค้นข้อมูล:1 พฤศจิกายน 2559.)

           สุเทพ จิระพลังทรัพย์.  2557. [ออนไลน์]. เหรียญพระพิฆเนศ รุ่นมหาเทพ2แผ่นดิน วัดแก้วแจ่มฟ้า ปี2541.  เหรียญพระพิฆเนศ 
เข้าถึงได้จาก; http://www.zalefree.com/goods-26822-เหรียญพระพิฆเนศ-รุ่นมหาเทพ2แผ่นดิน.  (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)

           2558. [ออนไลน์]. พระบูชาเทวรูปยุคสมัยต่างๆ.  พระพิฆเนศวร  เข้าถึงได้จาก; http://uauction2.uamulet.com/AuctionDetail.aspx?bid=43&qid=151807&sortby=DESC.  (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)

           ใหม่ พระเครื่อง. 2559. [ออนไลน์]. พระพิฆเนศวร. เข้าถึงได้จาก; http://www.mai-amulet.com/category/14/%E0%B8%
9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%86%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A8-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%86%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3. 
(วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)

bottom of page