
ความเชื่อ เรื่อง พระพิฆเนศวรในบริบทของสังคมไทย
สถานที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศวรที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย
1.เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พระนคร
ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสถานสำคัญของชาติประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อพ.ศ.2492 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2327
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว มีกำแพงล้อมรอบ ปัจจุบันมีอายุได้ 224 ปี อยู่ภายใต้การบริหาร ดูแล และประกอบพิธีกรรม โดยคณะพราหมณ์หลวงแห่งสำนักพระราชวัง ปัจจุบันมีพราหมณ์หลวง 10 ท่าน มีโบสถ์ทั้งหมด 3 หลัง โดยประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศวรไว้ที่สถานพระพิฆเนศวร (โบสถ์กลาง) สร้างด้วยอิฐถือปูน การก่อสร้างยังคงศิลปะอยุธยา ภายในโบสถ์มีเทวรูปพระพิฆเนศวร 5 องค์ ล้วนทำด้วยหิน คือ หินเกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ หินเขียว 2 องค์ ทำด้วยสำริด 1 องค์ ประดิษฐานบนเบญจา ประทับนั่งทุกองค์ องค์หนึ่งมีขนาดสูง 1.06 เมตร เป็นประธาน ประดิษฐานอยู่ข้างหน้า องค์บริวารอีก 4 องค์ ขนาดสูง 0.95 เมตร
2.วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก)
เทวสถานแห่งนี้มีองค์แม่ศรีมหาอุมาเทวีเป็นองค์ประธาน องค์เทพและเทวีต่างๆได้นำมาจากอินเดีย รวมทั้งเทวรูปพระพิฆเนศวรสำริดประทับนั่งขัดสมาธิ มี 4 พระกร ถือปาศะ อังกุศะ ทันตะ และขนมโมทกะ โดยงวงหยิบขนมในมือ ลักษณะทางประติมานวิทยาเป็นศิลปะอินเดียทางภาคใต้ตอนปลาย พระพิฆเนศวรองค์นี้ทางวัดจะนำมาบวงสรวงในกรณีพิเศษ และนำออกแห่รอบเทวสถานถึง 3 รอบ ในวันก่อนเทศกาลนวราตรีของทุกปี และเมื่อหลังจากวันสุดท้ายของเทศกาลนวราตรีแล้ว จะมีพิธีกรรมสำคัญที่สุดของเทวสถานคือ งานแห่พระศรีมหาอุมาเทวีในวันวิชัยทศมี (Vijaya Dasmi) พระพิฆเนศวรจะได้รับการบูชาและนำออกประดิษฐานในบุษบกของพระศรีมหาอุมาเทวีและพระกฤษณะ งานดังกล่าวนี้จัดในระหว่างวันขึ้น 1-10 ค่ำ เดือน 11 หรือ 12 ของทุกปี
นอกจากนี้ภายในเทวสถานยังมีเทวรูปพระพิฆเนศวรทำด้วยสำริดอีกองค์หนึ่งประดิษฐานรวมไว้
กับเทพและเทวีอื่นๆบนผนังด้านข้างถัดจากซุ้มพระพิฆเนศวรของทางวัด เทวรูปสำริดขนาดบูชานี้ เป็นของใหม่ที่สร้างขึ้นในประเทศอินเดีย
3.โรงละครแห่งชาติ
เทวรูปพระพิฆเนศวรประดิษฐานในหน้าบันของโรงละคร เป็นเทวรูปลอยองค์หล่อด้วยซีเมนต์ พระหัตถ์ทั้ง 4 ถือ ตรีศูล ปาศะ ทันตะ และสังข์ ประทับนั่งแยกพระชงฆ์และเทวพัสตราภรณ์ประดับหัวกะโหลกแสดงอิทธิพลแบบชวา จัดได้ว่าเป็นเทวลักษณะที่งดงามมาก ออกแบบโดย รศ.เสวต เทศน์ธรรม อดีตอาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามประวัติว่าเดิมออกแบบให้ประทับบนพระแท่นล้อมด้วยหัวกะโหลกตามแบบชวา แต่ได้มีผู้คัดค้านเพราะเห็นว่าดูน่ากลัว จึงได้แก้ไขให้ประทับบนพระแท่นบุษบกตามที่ปรากฏในปัจจุบัน
4.ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน (เซนทรัลเวิล์ด)
บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ใกล้กับทางเข้าด้านข้าง มีศาลพระพิฆเนศวรประดิษฐาน
มีเทวรูปพระพิฆเนศวรขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง ที่มีไว้บูชาสำหรับกิจการของเอกชนในปัจจุบัน องค์เทวรูปทำด้วยปูนปั้นปิดทองประทับบนบัลลังก์เมฆ มี 4 พระกร ถือได้ว่าเป็นเทวาลัยที่ทำอย่างปราณีตงดงามเป็นอย่างมาก โดยการประดิษฐานพระพิฆเนศวรไว้หน้าห้างสรรพสินค้าเช่นนี้มาจากคติที่นับถือว่าพระองค์ประทานความสำเร็จและความรุ่งเรืองแก่กิจการ
5.วัดเทพมณเฑียร เสาชิงช้า
เทวาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารโรงเรียนภารตวิทยาลัย มีเทวรูปพระพิฆเนศวรนำมาจากประเทศอินเดีย ทำด้วยหินอ่อน ศิลปะอินเดีย ประทับองค์แบบยืน มี 4 พระกร ถือขวาน ดอกบัว ผลไม้ และอีกหัตถ์ประทานพร
โดยที่นี่ได้เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ขึ้น คือ เมื่อปีพ.ศ.2538 เมื่อเทวรูปของชาวฮินดู "ดื่มนม" จากผู้ที่นำมาถวาย ต้นเหตุของข่าวเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย แล้วลุกลามไปทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยเอง ซึ่งในขณะนั้นประชาชนที่ทราบข่าวก็พากันแห่มาที่วัดเทพมณเฑียรจนมืดฟ้ามัวดินเพื่อพิสูจน์ความจริง ปรากฏว่า น้ำนมหายไปจริง พร้อมกับมีการพิสูจน์จากกรมทรัพยากรธรณี หน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่ง แม้แต่สื่อมวลชนก็นำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม
6.สี่แยกห้วยขวาง ถ.รัชดาภิเษก
เป็นสถานที่บูชาพระพิฆเนศวรที่มีผู้จัดสร้างถวายขึ้นเป็นการเฉพาะ เป็นรูปแบบที่หาชมได้ยาก องค์พระพิฆเนศวรประทับยืนขนาดใหญ่ มี 4 พระกร ถือวัชระ ปาศะ ทันตะ และถ้วยขนมโมทกะ รูปแบบศิลปกรรมเป็นแบบศิลปกรรมไทยที่ดัดแปลงจากศิลปะอินเดีย ถือได้ว่ามีความงดงามอย่างหาที่ติมิได้
7.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
จากหลักฐานการค้นพบองค์เทวรูปบูชาพระพิฆเนศวรที่เก่าแก่ ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้นว่าองค์เทวรูปบูชานั้นสลักจากหิน ค้นพบทางแถบจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ
8.วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพฯ
มีเทวรูปพระพิฆเนศวรขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ทางใต้ของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เทวรูปหล่อด้วยซีเมนต์ สูง 2.5 เมตร ประทับนั่ง มี 4 พระกร ทรงวัชระ ปาศะ ทันตะ แบะหม้อน้ำ ออกแบบโดยอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี
9.พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
เทวาลัยพระพิฆเนศวร ตั้งอยู่ใจกลางพระราชวังสนามจันทร์ สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในฐานะศาลเทพารักษ์ประจำวัง และสำหรับบูชาส่วนพระองค์ เทวรูปพระพิฆเนศวรแห่งนี้มีขนาดใหญ่ ทำด้วยสำริด มี 2 พระกร ถือปาศะ และถ้วยขนมโมทกะ เครื่องเทวพัสตราภรณ์เป็นแบบไทย ความสำคัญของเทวรูปองค์นี้ คือ เป็นเทวรูปพระพิฆเนศวรขนาดใหญ่องค์แรกที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ และสร้างด้วยแบบอย่างทางศิลปกรรมที่หาชมได้ยาก
10.วัดสมานรัตนาราม จ.ฉะเชิงเทรา
ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอบางคล้า และอำเภอคลองเขื่อน ริมแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
มีพระพิฆเนศวรปางนอนเสวยสุข ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 16 เมตร ยาว 22 เมตร เนื้อชมพู ลักษณะ
กึ่งนั่งนอนตะแคง โดยพระหัตถ์ซ้าย ถืองาที่หัก พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว โดยรอบฐานมีพระพิฆเนศ 32 ปาง
ให้ได้สักการะ
-อ้างอิง
กิตติ วัฒนะมหาตม์. คเณศปกรณ์ : สถานที่ประดิษฐานพระพิฆเนศวรในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2546.
พระราชครูวามเทพมุนี. 2552. [ออนไลน์]. พระคเณศที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์. เทวสถาน เข้าถึงได้จาก; http://toy17bars.blogspot.
com/2012/04/1.html. (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)
สำนักพิมพ์สยามคเนศ. 2552. [ออนไลน์]. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม). เทวสถาน เข้าถึงได้จาก; http://www.siamganesh.com
/umadevisilom.html. (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)
ศรีจินดา. 2553. [ออนไลน์]. ประติมากรรมพระคเณศ ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร. เทวสถาน เข้าถึงได้จาก; http://www.srichinda.com/index.php?lite=article&qid=180728. (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)
MoMoLeDark. 2558. [ออนไลน์]. ศาลพระพิฆเนศห้วยขวาง. เทวสถาน เข้าถึงได้จาก; http://www.foodtravel.tv/travelShow_Detail.
aspx?viewId=227. (วันที่ค้นข้อมูล: 4 พฤศจิกายน 2559.)
2557. [ออนไลน์]. พระราชวังสนามจันทร์ วังเก่าเล่าตำนาน. พระราชวังสนามจันทร์ เข้าถึงได้จาก; https://staritarn.wordpress.com/
2014/12/16/พระราชวังสนามจันทร์-วัง/. (วันที่ค้นข้อมูล: 4 พฤศจิกายน 2559.)
2556. [ออนไลน์].สักการะพระพิฆเนศใหญ่ที่สุดในโลก วัดสมานรัตนาราม. พระพิฆเนศใหญ่ที่สุดในโลก เข้าถึงได้จาก; http://www.thailandexhibition.com/Eat-Travel/661. (วันที่ค้นข้อมูล: 4 พฤศจิกายน 2559.)












