
ความเชื่อ เรื่อง พระพิฆเนศวรในบริบทของสังคมไทย
พระพิฆเนศวรในพิธีกรรมต่างๆ
ในสมัยรัตนโกสินทร์พระพิฆเนศวรได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี ตลอดจนถึงพิธีกรรมต่างๆ ของคนไทยที่มีความสำคัญตั้งแต่เฉพาะกลุ่มสาขาวิชาชีพ สถาบันต่างๆ ไปจนถึงระดับประเทศ พิธีกรรมที่ได้อัญเชิญพระพิฆเนศวรเข้าร่วมเป็นสวัสดิมงคลเหล่านี้ ล้วนมีรากฐานมาจากความเชื่อซึ่งเปลี่ยนแปลงและวิวัฒน์มาตามยุคสมัยต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ดังนั้นแต่ละพิธีจึงแฝงไว้ด้วยคติความเชื่อที่แตกต่างกัน ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
1.พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีนี้ถือเป็นพระราชพิธีอันสำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ไทย เพราะเป็นการประกาศการครองสิริราชสมบัติในพระราชฐานะของพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์ ตามขนบประเพณีเดิมที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตามแบบแผนที่มีมาก่อนอย่างเคร่งครัด โดยเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จะต้องมีพระราพิธีบรมราชาภิเษก และจะต้องกระทำก่อนที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน
สำหรับในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังคงมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบโบราณราชประเพณี และในขั้นตอนอันสำคัญที่สุดก่อนที่จะทรงรับพระบรมราชาภิเษก คือเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑปพระกระยาสนานเพื่อทรงสรงน้ำพระมูรธาภิเษกนั้น พราหมณ์จะอัญเชิญพระปฏิมาชัย และพระพิฆเนศวรเป็นคู่นำหน้ากระบวนเสด็จ แล้วเสด็จขึ้นสู่หอพระสุลาลัยพิมานเพื่อทรงรับน้ำอภิเษกต่อไป มีกระบวนนำเสด็จโดยเชิญพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 5 และพระพิฆเนศวรเป็นคู่หน้าอีก เข้าใจว่าการอัญเชิญพระพิฆเนศวรนำกระบวนเสด็จเช่นนี้ เป็นไปตามคติที่นับถือว่าพระพิฆเนศวรเป็นเทพเจ้าแห่งพิธีกรรม ความสำเร็จ และการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคทั้งปวง
2.พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก
พระราชพิธีนี้พระพิฆเนศวรจะได้รับการประดิษฐานเป็นเทพองค์ประธาน เพราะดังที่ทราบกันแล้วว่าคนไทยนับถือพระองค์เป็นบรมครูช้าง ผู้สร้างช้างหลายตระกูล และเป็นพระของกรมช้าง ผู้ประกอบการคชกรรม
ต้องเคารพบูชาพระพิฆเนศวรเป็นประจำ พิธีนี้ประกอบด้วย “พิธีจับเชิง” เพื่อขอขมาลาโทษช้างสำคัญที่จะนำขึ้นกราบบังคมทูลน้อมเกล้าฯ และ “พระราชพิธีน้อมเกล้าฯถวาย และขึ้นสมโภช”
3.พิธีไหว้ครู
พระพิฆเนศวรได้รับการอัญเชิญเข้าร่วมพิธีกรรมเช่นนี้ ตามคติที่นับถือกันว่าพระองค์เป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการทุกแขนง ดังนั้นพระองค์จะได้รับการบูชาในพิธีกรรมไหว้ครูที่จัดขึ้นในองค์กรต่างๆอยู่เสมอ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทางศิลปกรรม นาฏกรรม คีตกรรม การช่าง ศิลปการแสดง โรงเรียนทั่วไป รวมไปถึงตำหนักทรงของผู้ที่อ้างว่าเป็นร่างทรง หรือสื่อกลางของเทพเจ้าต่างๆ ที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้
“พิธีไหว้ครูศิลปะ” ตามคติที่นับถือพระพิฆเนศวรเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปศาสตร์ทุกแขนง จึงถือเป็นเทพองค์ประธานสำหรับพิธีนี้ โดยจัดตั้งเทวรูปพระพิฆเนศวรอยู่ในตำแหน่งที่เด่นและสำคัญที่สุด มีเครื่องสังเวยจำพวกขนม และผลไม้หลายอย่าง การประกอบพิธีทำเหมือนพิธีไหว้ครูอื่นๆ ในบางแห่งเจ้าพิธีนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นร่างทรงพระพิฆเนศวรที่ถูกต้องจะประทับทรงภายหลังเสร็จสิ้นพิธี เพื่อเจิมผู้เข้าร่วมพิธีให้เกิดสวัสดิมงคล และเจิมเทวรูปต่างๆที่ผู้เข้าร่วมพิธีนำมาร่วมประดิษฐานในพิธีไหว้ครูด้วย อาทิเช่น พิธีไหว้ครูของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“พิธีไหว้ครู ครอบครูนาฏศิลป์” ดังที่นับถือกันว่าพระพิฆเนศวรทางเป็นบรมครูทางนาฏกรรมด้วยพระองค์หนึ่ง ดังนั้นนอกจากรูปเคารพพระองค์ในพิธีนี้ ยังปรากฏในลักษณะหัวโขน ที่เรียกว่า ศีรษะ โดยศีรษะพระพิฆเนศวรที่ใช้ในการแสดงโขนละครไทยนั้นมี 2 แบบ แบบแรกทำไว้สำหรับการบูชาโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำอย่างปราณีตบรรจง และงดงาม อีกแบบคือทำไว้สำหรับใช้ในการแสดง ซึ่งจะมีความปราณีตเป็นรองกว่า แต่มีความคงทนมากกว่า
“พิธีไหว้ครูดนตรี” ในทางดนตรีไทยนับถือเทพเจ้าสำคัญ คือ พระปรคนธรรพ์ พระปัญจสิขร และพระวิศวกรรม แต่เมื่อพระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาก็อัญเชิญเข้าร่วมพิธีด้วย พิธีไหว้ครูดนตรีจัดคล้ายคลึงกับพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ บางสถาบันจึงจัดพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ในคราวเดียวกัน
“พิธีไหว้ครูของนักแสดง และดาราภาพยนตร์” ครูของนักแสดงในเมืองไทยส่วนใหญ่อนุโลมตามฝ่ายนาฏศิลป์ การประดิษฐานศีรษะและเทวรูปไม่เคร่งครัดนัก โดยมากจะประดิษฐานพระฤาษี หรือพ่อแก่
และพิฆเนศวรเป็นองค์ประธาน ด้วยถือกันว่าเป็นเทพเจ้าผู้ทรงคุ้มครอง และอำนวยความสำเร็จแก่นักแสดงทุกคน ปัจจุบันพิธีไหว้ครูนักแสดง และดาราภาพยนตร์ที่รู้จักกันมากโดยจัดที่บ้านของดาราภาพยนตร์อาวุโส รอง เค้ามูลคดี เป็นประจำทุกปี และในพิธีจะมีการให้ความสำคัญกับพ่อแก่และพระพิฆเนศวรเป็นอย่างมาก
“พิธีไหว้ครูช่าง” ในด้านการช่างของไทยนั้น จะนับถือพระวิศวกรรมเป็นสำคัญ แต่ก็ยังมีการอัญเชิญพระพิฆเนศวรเข้าร่วมพิธีด้วย
“พิธีไหว้ครูของนักเรียน นักศึกษา” ในบางสถาบันจะมีการอัญเชิญพระพิฆเนศวรเข้าร่วมพิธีด้วย แต่นำมาประดิษฐานเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นสักขีพยาน ไม่ได้บูชาเป็นกรณีพิเศษ
“พิธีไหว้ครูตำหนักทรง” เป็นพิธีกรรมใหม่ที่มีขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้ โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร่างทรงจะจัดขึ้น ณ ตำหนักของตน โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติที่นำมาจากพิธีไหว้ครูอื่นๆ แล้วนำมาผสมผสานไม่มีมาตรฐานกำหนดแน่นอน
“พิธีบวงสรวงก่อนเริ่มงานสำคัญ” พิธีกรรมเช่นนี้เป็นพิธีพราหมณ์ และประดิษฐานพระพิฆเนศวรในฐานะเทพองค์ประธานของพิธีตามคติเดิม ในประเทศไทยคงเป็นพิธีกรรมที่พราหมณ์ปฏิบัติกันเป็นการภายในมาแต่เดิม ภายหลังมีงานสำคัญระดับท้องถิ่น และรัฐพิธีเกิดขึ้นโดยมีพราหมณ์เข้าร่วมเป็นหลักมากขึ้น จึงเกิดการบวงสรวงพระพิฆเนศวรรวมถึงเทพเจ้าทั้งหลายขึ้นเป็นการเฉพาะ พิธีกรรมดังที่กล่าวมานี้ในปัจจุบันที่สามารถยกตัวอย่างได้มีดังนี้
- พิธีบวงสรวงก่อนดำเนินการปลูกสร้างพระเมรุ โดยทั่วไปการอัญเชิญพระพิฆเนศวรจะกระทำเฉพาะงานมงคล แต่สำหรับการสร้างพระเมรุของไทย โดยงานล่าสุดในปัจจุบันได้มีการบวงสรวงพระพิฆเนศวร
ก่อนจะลงเสาเอกสำหรับการเตรียมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2555 โดยกรมศิลปากรได้จัดพิธีบวงสรวงพระพิฆเนศวร พระวิศวกรรม และเทพเจ้าอื่นๆ ก่อนดำเนินการจัดสร้างพระเมรุ การอัญเชิญพระพิฆเนศวรในพิธีกรรมส่วนนี้อาจเพื่อขอให้ทรงประทานความสำเร็จ และให้การดำเนินการสร้างปราศจากอุปสรรคและข้อขัดข้องต่างๆ
- พิธีบวงสรวงก่อนดำเนินการชักลากพระมหาพิชัยราชรถ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะมีการจัดราชรถอัญเชิญพระศพไปยังพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ภายหลังการซ่อมบูรณะพระมหาพิชัยราชรถเสร็จสิ้นลงก็จะมีพิธีบวงสรวงพระพิฆเนศวร โดยพิธีบวงสรวงจัดเช่นเดียวกับกรณีการจัดสร้างพระเมรุ
Follow me on Twitter
View me on Flickr
Like me on Facebook
Follow me on Instagram







พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ที่มา: http://welovethaiking.com/blog /blog/๕-พฤษภาคม-วันฉัตรมงคล
พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือก (รัชกาลที่ 9)
ที่มา: http://guru.sanook.com/459/
ศีรษะพระพิฆเนศวร (ใช้ในกา รแสดงโขน)
ที่มา: http://www.siranurak.com/page2.html
พิธีบวงสรวงก่อนดำเนินการปลูกสร้างพระเมรุ
ที่มา: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000006669
พิธีบวงสรวงก่อนดำเนินการชักลากพระมหาพิชัยราชรถ
ที่มา: http://news.tlcthai.com/news/20853.html
-อ้างอิง
กิตติ วัฒนะมหาตม์. คเณศปกรณ์ : การนับถือพระพิฆเนศวรในเมืองไทยปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2546.
ธนกร จินดาศรี. 2551. [ออนไลน์]. พิธีกรรมและการบูชาพระพิฆเนศวร. พิธีกรรมและการบูชา
เข้าถึงได้จาก; http://www.srichinda.com/index.php?mo=3&art=172755. (วันที่ค้นข้อมูล:2 พฤศจิกายน 2559.)
2556. [ออนไลน์]. พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ. พิธีกรรม เข้าถึงได้จากhttp://guru.sanook.com/459/. (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)
Pijit Net. 2555. [ออนไลน์]. ลักษณะหัวโขน. พระพิฆเนศวร เข้าถึงได้จาก;http://www.siranurak.com/page2.html. (วันที่ค้นข้อมูล: 4 พฤศจิกายน 2559.)
สำนักพิมพ์ข่าวสด. 2557. [ออนไลน์]. โปรดเกล้าฯ ใช้พระมหาพิชัยราชรถงานพระเมรุ. พระมหาพิชัยราชรถงานพระเมรุ เข้าถึงได้จาก; http://news.tlcthai.com/news/20853.html. (วันที่ค้นข้อมูล:4 พฤศจิกายน 2559.)